เปิดเทคนิคการจัดพอร์ตการลงทุน พร้อม 3 ตัวอย่างที่คุณห้ามพลาด!

By Kubix

[Tips] การจัดพอร์ตการลงทุนสำคัญอย่างไร พร้อมตัวอย่างเบื้องต้น

ถึงแม้การลงทุนจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายและสไตล์การลงทุนของแต่ละคน รวมไปถึงสภาวะตลาดที่แม้จะคาดการณ์ได้ แต่ก็อาจมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นทุกเมื่อ แต่ผู้ลงทุนก็สามารถศึกษาวิธีการจัดพอร์ตการลงทุนจากตัวอย่างที่นักลงทุนคนอื่นๆ แนะนำแล้วปรับใช้กับตัวเองได้เช่นกัน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้อย่างปลอดภัยและไม่เจ็บตัว

บทความนี้ เราจะมาพูดถึงความสำคัญของการจัดพอร์ตการลงทุน พร้อมแชร์เคล็ดลับและตัวอย่างพอร์ตที่รวมเอาการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเข้าไปด้วย เพื่อให้ผู้ลงทุนที่สนใจในโลกการเงินยุคใหม่ได้ดูเป็นแนวทาง

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการจัดพอร์ตการลงทุน

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”

เชื่อว่า ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับคำเตือนนี้กันเป็นอย่างดี ทั้งจากหนังสือชี้ชวนและสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น น้อยครั้งมากที่เราจะได้รับคำแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียว เนื่องจากอาจเป็นการ “กระจุกความเสี่ยง” และไม่มีทางหนีทีไล่สำรองไว้สำหรับเวลาที่ตลาดผันผวน 

อย่างไรก็ตาม การกระจายความเสี่ยงก็ต้องกระจายอย่างมีกลยุทธ์และเหมาะสมกับเป้าหมาย เพื่อให้พอร์ตมีสภาพคล่อง หากมีความจำเป็นหรือเรื่องฉุกเฉินต้องสามารถขายหน่วยลงทุนบางส่วนเพื่อนำเงินมาใช้ได้ แต่ก็ต้องไม่ลงทุนกระจัดกระจายจนทำกำไรยาก 

Kubix ขอชวนผู้ลงทุนประเมิน 5 สิ่งต่อไปนี้เพื่อช่วยในการจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง

เทคนิคจัดพอร์ตลงทุน : เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการประเมิน 5 สิ่งต่อไปนี้

  1. ความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้

แต่ละคนมีเป้าหมาย เงื่อนไขและภาระในชีวิต รวมถึงทัศนคติต่อการลงทุนไม่เหมือนกัน เช่น วัยรุ่นอาจจะกล้าได้กล้าเสีย แต่บางคนที่เพิ่งเริ่มทำงานก็อาจจะกำลังตั้งตัวและกลัวการขาดทุน ในขณะที่วัยกลางคน บ้างอาจจะมีประสบการณ์ลงทุนมามากและยอมรับการขาดทุนได้ แต่บ้างก็มีภาระในชีวิตเยอะและไม่พร้อมเสี่ยงกับการลงทุนที่อาจเสี่ยงต่อการสูญเงินต้น เพราะฉะนั้นผู้ลงทุนทุกคนควรประเมินความเสี่ยงของตัวเองก่อนการจัดพอร์ตการลงทุนเสมอ เพราะจะส่งผลต่อประเภทของการลงทุนและสัดส่วน โดยสามารถทำแบบทดสอบนี้ได้ก่อนเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ หรือค้นหาแบบทดสอบได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  1. สภาวะตลาด

นอกจากจะประเมินความพร้อมของตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหนแล้ว ยังต้องประเมินสภาวะตลาดอีกด้วย การหาข้อมูลสภาวะตลาดในอดีตและประเมินสถานการณ์ปัจจุบันประกอบจำช่วยให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์แนวโน้มของตลาดในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย เพื่อจะได้รู้ว่า ณ ขณะนี้เหมาะกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน และจะจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไรให้ลดความเสี่ยงได้มากที่สุด

  1. เงินลงทุน

แน่นอนว่า ก่อนลงทุน ผู้ลงทุนต้องประเมินว่า มีเงินที่พร้อมนำมาลงทุนมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว เราควรสำรองเงินเผื่อฉุกเฉินและกันค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเอาไว้ด้วย หากต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ หรืออยากลงทุนในระยะยาว ควรใช้เงินเย็น ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่ต้องนำออกมาใช้ในระยะเวลา 5-10 ปี นอกจากนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีราคาต่อหน่วยสูงก็อาจไม่เหมาะกับเงินเริ่มต้นลงทุนก้อนเล็ก เพราะค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนที่ได้อาจไม่คุ้มกับเงินทุนเท่าที่ควร

  1. ระยะเวลาลงทุน 

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว หากเป็นการลงทุนระยะสั้นอาจลงทุนในสิ่งที่มีความผันผวนสูงเพื่อทำกำไรในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ แต่หากต้องการลงทุนระยะยาว การจัดพอร์ตการลงทุนอาจต้องมองที่ความมั่นคงหรือโอกาสในการได้รับเงินต้นคืนทั้งหมดพร้อมผลตอบแทนในอัตราที่พึงพอใจ

  1. วัตถุประสงค์ในการลงทุน

สุดท้ายคือวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการลงทุน บางคนอาจต้องการลงทุนเพื่อเก็บออมเงิน อาจเลือกจัดพอร์ตการลงทุนในแบบที่ความเสี่ยงต่ำและเน้นได้รับผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ แต่บางคนอาจมีเป้าหมายเป็นการทำกำไรจากส่วนต่างราคา อาจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนมากขึ้นอีกนิด แล้วรอจังหวะทำกำไร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่มากขึ้นตามไปด้วยเหมือนกัน

ตัวอย่างการจัดพอร์ตการลงทุน

สำหรับวันนี้ เรามีตัวอย่างการจัดพอร์ตการลงทุนมาฝากถึง 3 แบบด้วยกัน ดังนี้

แบบที่ 1 เน้นไม่เสียเงินต้น

  • เงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน 50%
  • กองทุนรวมตราสารหนี้ 30%
  • ตราสารทุน 20%

สำหรับผู้ลงทุนที่อยากเน้นเก็บออมเงิน และมองหาโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากโดยทั่วไป สามารถจัดพอร์ตการลงทุนโดยออมเงินครึ่งหนึ่งไว้ในเงินฝากประจำหรือกองทุนรวมตลาดเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ แล้วกระจายเงินลงทุนส่วนที่เหลือในกองทุนรวมตราสารหนี้และตราสารทุนได้ เพราะหากตลาดอยู่ในช่วงขาลงจะได้ไม่ขาดทุนทั้งพอร์ต และมีโอกาสได้รับเงินปันผลหรือกำไรจากการขายหน่วยลงทุน

แบบที่ 2 รับความเสี่ยงได้มากขึ้น เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น

  • เงินฝาก 30%
  • กองทุนรวมตราสารหนี้และตราสารทุน 50%
  • สินทรัพย์ดิจิทัล 20%

หากใครพร้อมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เพราะมองหาโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าเดิม รวมถึงอยากลองลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้สิทธิ์ร่วมลงทุนในโครงการที่สนใจหรือสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากหลักทรัพย์ สามารถแบ่งเงินลงทุนประมาณ 20% ของพอร์ตมาลงทุนได้ และเฉลี่ยเงินที่เหลือไปลงทุนในกองทุนและหุ้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีเงินฝากเอาไว้เพื่อความอุ่นใจอยู่

แบบที่ 3 พร้อมรับความเสี่ยง และต้องการรับผลตอบแทนหลายรูปแบบ

  • เงินฝาก 20%
  • กองทุนรวม 50%
  • สินทรัพย์ดิจิทัล 30% โดยแบ่งเงินมาลงทุนใน Utility Token ที่สนใจ

แบบสุดท้ายเป็นการจัดการพอร์ตการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนที่อยากลองรับผลตอบแทนในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงิน สามารถแบ่งเงินประมาณ 1 ใน 3 ของพอร์ตมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และแบ่งเงินจำนวนหนึ่งมาลองซื้อเป็น Utility Token เพื่อรับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามความสนใจได้ ที่เหลือก็ยังคงได้รับผลตอบแทนจากเงินฝาก กองทุนรวม และ Investment Token ที่ให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินอยู่

การลงทุนที่ขาดการวางแผนก็เหมือนการเดินอย่างแบบไม่รู้ทิศทาง ดังนั้น การจัดพอร์ตการลงทุนที่ดีจึงมีชัยไปกว่าครึ่ง อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้ลงทุนก็ได้รู้ถึงความสำคัญของการจัดพอร์ตก่อนลงทุนและสิ่งสำคัญที่ควรประเมินในเบื้องต้นแล้ว หากใครสนใจอยากมีสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ต สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Kubix เพื่อเปิดบัญชีและเริ่มต้นลงทุนใน Digital Token ได้เลย

 

บทความนี้ไม่ใช่คำแนะนำทางการลงทุน นักลงทุนโปรดศึกษาความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

โทเคนดิจิทัลเป็นสินทรัพย์มีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้


ติดตามข่าวสารจากเราได้ที่ : 
➡ LINE Official: @Kubix (https://lin.ee/Jub58gd)
➡ Website: https://www.kubix.co

scroll top iconBack to top