การประยุกต์ใช้ Digital Token เพื่อสิ่งแวดล้อม
ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม ลงทุน Digital Token อย่างไรให้ตอบโจทย์?
แม้จะเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมในสินทรัพย์การลงทุนเช่นหุ้นและกองทุน แต่ในปัจจุบันนี้ เทรนด์การลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่าง ESG Investing (Environment Social and Governance) เองก็กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในวงการการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นกัน
ในปัจจุบันนี้ ภาครัฐและเอกชนได้มีการริเริ่มโปรเจกต์การลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบของ Digital Token มากมายบนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน พร้อมกับสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
แต่จะมีโปรเจกต์ Digital Token ใดน่าสนใจและตอบโจทย์การดูแลสิ่งแวดล้อมบ้าง มาดูไปพร้อมกันได้เลย
การทำงานของ Blockchain และปัญหาสิ่งแวดล้อมในอดีต
นับตั้งแต่เป็นกระแสการลงทุนของโลก ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ รวมถึง Digital Token ที่ทำงานบนเทคโนโลยีบล็อกเชนถือเป็นศัตรูสำคัญของ ‘สิ่งแวดล้อม’ เลยก็ว่าได้
เป็นที่ทราบกันดีว่า สินทรัพย์ดิจิทัลบนเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นจะทำงานภายใต้ระบบที่เรียกว่า ‘ระบบฉันทามติ’ หรือ ‘Consensus Algorithm’ ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยกระจายอำนาจให้กับผู้ใช้งานภายในระบบทุกคนร่วมกันตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ ตลอดจนป้องกันอันตรายจากอาชญากรบนโลกออนไลน์
แม้จะช่วยป้องกันภัยจากโลกออนไลน์ แต่ Consensus Algorithm อย่าง Proof of Work กลับเป็นระบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงกว่า Consensus Algorithm ตัวอื่น ทั้งยังต้องอาศัยฮาร์ดแวร์ชนิดพิเศษในการทำงานด้วย ซึ่งนอกจากจะเกิดความร้อนสะสมเพิ่มขึ้นแล้ว Proof of Work ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างและสะสมแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นอีกด้วย
นอกจากประเด็นเรื่องการใช้พลังงานและการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว ในอดีต ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ รวมถึง Digital Token ที่บนเทคโนโลยีบล็อกเชนยังมีหลักการทำงานที่ไม่เป็นไปตามหลัก ESG ที่ให้ความสำคัญทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance)
กล่าวคือ นอกจากจะใช้พลังงานสูงที่ขัดกับหลักด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว สินทรัพย์ดิจิทัลยังเป็นการลงทุนที่มีการปกปิดข้อมูลผู้ทำธุรกรรมทั้งหมด ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งาน แต่ก็หมายความว่าตัวธุรกรรมก็จะไม่มีความโปร่งใสและยากที่จะพิสูจน์ ทำให้ขัดต่อหลักสังคมเช่นกัน
ที่สำคัญ สินทรัพย์ดิจิทัลบนบล็อกเชนยังขัดต่อหลักการกำกับดูแล เนื่องจากธุรกรรมบนเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นธุรกรรมที่ไม่มีกฎหมายมาควบคุมดูแล ทำให้มีความเสี่ยงรอบด้านที่สูงมาก
Digital Token และการรักษาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
แม้การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและ Digital Token ในอดีตจะไม่สอดคล้องกับหลัก ESG ทั้งยังเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา แต่ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลเองก็ได้มีการพัฒนาและปรับตัวเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสอดคล้องกับหลัก ESG มากขึ้น
เช่น กรณีของ Ethereum 2.0 ที่เปลี่ยนระบบ Consensus Algorithm จาก Proof of Work ที่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าและฮาร์ดแวร์พิเศษที่ช่วยให้ถอดรหัสและขุดเหรียญได้รวดเร็ว มาเป็นระบบ Proof of Stake ที่ใช้ ‘เงินเดิมพันเป็นสกุลเงินดิจิทัลในระบบ’ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสุ่มเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมในบล็อกเชน ซึ่งนอกจากจะใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าแล้ว ยังเพิ่มความปลอดภัยต่อการโจมตีทางโลกไซเบอร์ได้อีกด้วย เนื่องจากหากเกิดการโกง หรือ ปลอมแปลงข้อมูลธุรกรรมขึ้นมา ระบบ Proof of Stake จะทำการยึดเงินเดิมพันทั้งหมด
นอกจากนี้ การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึง Digital Token ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย นักลงทุนและผู้ออกเหรียญโทเคนดิจิทัลจำเป็นที่จะต้องยืนยันตัวตนและผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ สำนักงานก.ล.ต. ทำให้เพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรมและสอดคล้องกับหลัก ESG มากขึ้น
โครงการ Digital Token เพื่อสิ่งแวดล้อมที่น่าจับตามอง
ในปัจจุบันนี้ ภาครัฐและเอกชนจากทั่วโลกเองก็ได้มีการพัฒนาโปรเจกต์เหรียญโทเคนดิจิทัลเพื่อจุดประสงค์ในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากมาย อาทิ
โปรเจกต์โครงการพลังงานแสงอาทิตย์
บริษัทพลังงานจากฝรั่งเศสอย่าง EDF ENR และ BNP Paribas CIB ได้มีการออก Security Token เพื่อนำทุนไปต่อยอดในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์
โปรเจกต์การจัดการขยะ
Foodtrax เป็นโปรเจกต์ที่มุ่งเน้นและสนับสนุนการสร้างความโปร่งใสให้กับการจัดการสินค้าสำหรับการบริโภคทั้งหมดเพื่อจุดประสงค์ในการลดขยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาระสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง
โปรเจกต์ระดมทุนเพื่อโครงการสิ่งแวดล้อมในประเทศ
รัฐบาลฮ่องกงได้ทำการออกตราสารหนี้ดิจิทัลเพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมภายในฮ่องกง โดยตราสารหนี้ดิจิทัลนี้ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง มีอายุ 365 วันและให้ผลตอบแทนสูงกว่า 4.05% โดยมี Goldman Sachs เป็น ICO Portal
โปรเจกต์ Tokenized Carbon Credit
คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ ปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่สามารถลดหรือกักเก็บได้ โดยปริมาณของคาร์บอนเครดิตนี้สามารถนำมาซื้อขายได้ อย่างไรก็ดี การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจกลับมีสภาพคล่องที่น้อยกว่าตลาดภาคบังคับอยู่มาก ดังนั้น การเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตเป็น Digital Token บนเทคโนโลยีบล็อกเชนจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้เพิ่มคาร์บอนเครดิตและสร้างสภาพคล่องในตลาด ส่งผลให้เกิดการลดแก๊สเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและ Digital Token ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาและปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
แม้จะยังไม่มีโปรเจกต์ด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น แต่ในประเทศไทยเองก็ได้มีการริเริ่ม Digital Token ที่สอดคล้องกับหลัก ESG ตลอดจนช่วยส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น แต่จะเป็นโปรเจกต์ใดนั้น อย่าลืมติดตาม Kubix เพื่ออัปเดตข่าวสารก่อนใคร หรือ หากใครต้องการริเริ่ม Digital Token เพื่อจุดประสงค์เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ก็สามารถปรึกษา Kubix ด้าน ICO Portal ได้เช่นกัน
บทความนี้ไม่ใช่คำแนะนำทางการลงทุน นักลงทุนโปรดศึกษาความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
โทเคนดิจิทัลเป็นสินทรัพย์มีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้
ติดตามข่าวสารจากเราได้ที่ :
➡ LINE Official: @Kubix (https://lin.ee/Jub58gd)
➡ Website: https://www.kubix.co