Blockchain มีประโยชน์อย่างไรกับวงการสินทรัพย์ดิจิทัล
บล็อกเชน (Blockchain) คือเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงมากในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา โดยมีการไปปรับใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเพื่อตัดตัวกลาง หรือเพื่อลดต้นทุน รวมไปถึงการช่วยสร้างความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของข้อมูล และยังเป็นระบบที่ช่วยให้วงการสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการไปได้อย่างราบรื่นและโปร่งใสตามกลไกตลาด
ในบทความนี้จะมาสรุปให้ดูกันว่าระบบบล็อกเชนทำงานอย่างไรและมีประโยชน์ต่อโลกสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร เพราะก่อนที่ทุกท่านจะกระโดดเข้าไปในวงการนี้จะต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน และที่สำคัญที่สุดอย่าลืมว่าการลงทุนทุกอย่างนั้นย่อมมีความเสี่ยง
โลกที่ไม่ต้องอาศัยตัวกลาง
คาดว่าหลายท่านย่อมมีบัญชีธนาคารกันอยู่แล้ว พร้อมกับแอปพลิเคชันธุรกรรมออนไลน์ ที่ทำให้ไม่ต้องเดินทางไปธนาคารเลยด้วยซ้ำเมื่อต้องการทำธุรกรรมใดๆ แม้การใช้งานจะสะดวกสบายแต่การทำงานต่างๆ อยู่บนระบบของธนาคารที่เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมนั้นๆ ข้อจำกัดของระบบประเภทนี้คือการที่ทุกอย่างถูกรวมอยู่ที่เดียว หากระบบล่มขึ้นมากจะเป็นปัญหาในวงกว้าง
แต่การเกิดขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นก็ได้ตอบโจทย์ คือสามารถกระจายการควบคุมและเปิดกว้างแบบสุดๆ ผ่านการทำงานการเชื่อมชุดข้อมูลต่อ (Block) กันเป็นห่วงโซ่ (Chain) เพื่อให้มีความปลอดภัย โปร่งใส และทุกคนสามารถตรวจสอบได้ เปรียบเสมือนทุกคนในระบบี่ถือเอกสารชุดเดียวกัน และชุดเอกสารนั้นๆ จะถูกอัปเดตพร้อมกัน โดยมีชุดข้อมูลอัปเดตที่เหมือนกันทุกคน ทำให้ระบบเครือข่ายข้อมูลเป็นแบบ Decentralized (ระบบการกระจายศูนย์ข้อมูล) จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เทคโนโลยีบล็อคเชนมีความน่าเชื่อถือเพราะไม่สามารถเจาะข้อมูลระบบได้โดยง่ายและสามารถสร้างความน่าเชื่อถือเนื่องจากผู้ที่อยู่บนเครือข่ายรับทราบชุดข้อมูลที่ตรงกัน และอัปเดตพร้อมกันอีกด้วย
Blockchain กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการสินทรัพย์ดิจิทัล
จากบทความที่แล้วทุกท่านคงจะทราบกันแล้วว่าบล็อกเชนมีความสำคัญอย่างไร และมีบทบาทอย่างไรต่อวงการสินทรัพย์ดิจิทัล ไปจนถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ทีนี้มาดูกันว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรจากการตัดตัวกลางออกไป
- ความเป็นเจ้าของ (Ownership)
จากที่เราต้องฝากเงินให้กับตัวกลางเป็นผู้ดูแล และต้องขออนุญาตทุกครั้งไม่ว่าจะตรวจสอบหรือโอนเงินในบัญชี แต่ตอนนี้ Blockchain ทำให้เราสามารถเก็บทรัพย์สินไว้กับตัวเองได้โดยตรง ตอนโอนก็ทำได้เลยแบบไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ - ความเป็นระบบเปิดและเท่าเทียม (Open & Neutral)
ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม ระบบบล็อกเชนจะอนุญาตให้เราทำธุรกรรมได้ เพราะทุกคนมีสิทธิ์เข้ามาใช้อย่างเท่าเทียม - ความโปร่งใสและข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ (Transparency & Immutability)
ข้อมูลบนบล็อกเชนนั้นจะเชื่อถือได้โดยทุกฝ่าย เพราะเรารู้ว่าไม่มีบัญชีไหนเข้าไปแก้ข้อมูลย้อนหลังได้ และจะอยู่อย่างถาวรอีกด้วย - ลดค่าใช้จ่าย (Saving Cost)
แน่นอนว่าพอไม่มีธุรกิจตัวกลางที่มีการคิดค่าธรรมเนียมระหว่างทางแล้ว ค่าใช้จ่ายของการทำธุรกรรมนั้นลดลงแน่นอน - ความไร้พรมแดน (Borderless)
โดยปกติแล้วการทำธุรกรรมระหว่างประเทศจะต้องผ่านตัวกลาง เช่น ธนาคารหรือสถาบันการเงิน และอ้างอิงอัตราการแลกเปลี่ยน ซึ่งมักจะมีการผันผวนไปตามสถานการณ์โลกหรือปัจจัยต่างๆ เมื่อเป็นการทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายบล็อคเชนนั้น จะไม่มีตัวกลางและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง
แนวคิดของ Blockchain กับสินทรัพย์ดิจิทัลหากมองลึกเข้าไปโมเดลทั้งหมดนี้ คือรูปแบบในการจัดการ ถ่ายทอด รวมถึงประมวลผลข้อมูลที่มีเอกลักษณ์และประสิทธิภาพที่สูงทีเดียว บล็อกเชนจึงช่วยแก้ปัญหาความปลอดภัยกับตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับเวลาและการใช้งานได้อย่างดี